โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน”
ที่มาและความสำคัญ
ด้วยความมุ่งมั่นในการยกระดับขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมของประเทศผ่านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงได้ผลักดันแนวทางการสนับสนุนเป้าหมายนี้ ผ่านกลไกรูปแบบใหม่ที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบันแต่ยังช่วยนำแนวคิด “นวัตกรรมระบบเปิด” (Open Innovation Paradigm) มาออกแบบเป็นกลไกของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนรูปแบบใหม่ที่มุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างแท้จริง ผ่านโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน”
ที่ผ่านมาการนำงานวิจัยมายกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทย หรือแม้แต่การสนับสนุน Startup (l9kiNmvyr) ให้มีการเติบโต ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคอยู่ โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน”
จึงถูกดำเนินการขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในภูมิภาคให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนเงินและร่วมลงทุนกับกองทุนและหน่วยงานภาคเอกชน โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” เป็นโครงการแนวคิดใหม่ที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพมายกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (SMEs) และยังเอื้อให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตจากการทำธุรกิจคู่ค้าอย่างแท้จริงได้ด้วย
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพและสามารถสร้างความเติบโตให้กับสตาร์ทอัพด้วยการทำธุรกิจอย่างแท้จริงกับภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Open Innovation
- เพื่อพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้กรอบที่สามารถสร้างให้เกิดการพัฒนาร่วมกันไปทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบที่เป็น Common Benefits ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมองค์รวม (Industry Sector Development Program) โดยเน้นไปที่โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวิภาพ (Bio Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการพัฒนาอุตสหากรรมแห่งอนาคต (S-Curve)
ประโยชน์ที่จะได้รับจากโคงการ
- เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย
- สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจนวัตกรรม ผ่านการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพ
- เกิดการพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดในภาคเอกชน
- บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น ผ่านการยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรม
กรอบแนวคิด
โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” ยึดหลักธรรมาภิบาลและประสิทธิภาพควบคู่กัน โดยมีภาคเอกชน คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินกิจกรรม
โครงการฯ มุ่งหวังให้เกิดผลผลิตสำคัญ คือ การสนับสนุนด้านการเงินให้แก่สตาร์อัพและ SMEs ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเน้นเป้าหมายไปที่การนำเทคโนโลยีของสตาร์อัพมายกระดับภาคอุตสาหกรรม SMEs อย่างน้อย 5 โครงการในปี 2566 นำไปสู่การขยายตัวของสตาร์ทอัพและ SMEs เข้าสู่การได้รับเงินสนับสนุนในรอบถัดไปอย่างน้อย 3 โครงการ และผลักดันโครงการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมองค์รวม ตามแนวทาง BCG และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) อย่างน้อย 2 โครงการ