โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน”
โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน”
ที่มาและความสำคัญ
ด้วยความมุ่งมั่นในการยกระดับขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมของประเทศผ่านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงได้ผลักดันแนวทางการสนับสนุนเป้าหมายนี้ ผ่านกลไกรูปแบบใหม่ที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบันแต่ยังช่วยนำแนวคิด “นวัตกรรมระบบเปิด” (Open Innovation Paradigm) มาออกแบบเป็นกลไกของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนรูปแบบใหม่ที่มุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างแท้จริง ผ่านโครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน”
ที่ผ่านมาการนำงานวิจัยมายกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทย หรือแม้แต่การสนับสนุน Startup ให้มีการเติบโต ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคอยู่ โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน”
จึงถูกดำเนินการขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในภูมิภาคให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนเงินและร่วมลงทุนกับกองทุนและหน่วยงานภาคเอกชน โครงการ “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” เป็นโครงการแนวคิดใหม่ที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพมายกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (SMEs) และยังเอื้อให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตจากการทำธุรกิจคู่ค้าอย่างแท้จริงได้ด้วย
งบประมาณของโครงการ
- กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จะสนับสนุนงบประมาณภายใต้วงเงิน 1,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี
ปัจจัยความสำเร็จของโครงการ
- กลไกลที่สร้างความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจระหว่างสตาร์ทอัพและ SMEs ที่สามารถนำไปสู่การนำเอาเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม
- การสนับสนุนผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่สอดคล้องกับสตาร์ทอัพมาเป็นผู้ช่วยในการกำหนดและแนะนำแนวทางการดำเนินงานของสตาร์ทอัพให้สามารถเชื่อมโยงต่อเข้ากับภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
- ระเบียบกฎเกณฑ์การสนับสนุนทางการเงินที่ถูกต้องและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของภาคเอกชนและไม่สร้างภาระการบริหารในการดำเนินงาน
พันธมิตรหลักของโครงการ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
แนวร่วมภาคเอกชน อาทิ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด (InnoSpace) บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Enterprise Co., Ltd) บริษัท Origgin Ventures Pte. Ltd. บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และอีกหลายรายที่แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมเข้ามา
วัตถุประสงค์ของ Innovation One
- ยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมไทยผ่านการสนับสนุนทางการเงิน และช่องทางทางการตลาด
- สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของไทยในการพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรมผ่านทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ
- พัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้กรอบที่สามารถสร้างให้เกิดการพัฒนาร่วมกันไปทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบ Common Benefits ภายใต้แนวคิด Industry Sector Development Program โดยเน้นแนวทางเศรษฐกิจ BCG, Climate Change และ อุตสาหกรรม S-Curve
ประโยชน์ที่จะได้รับจาก Innovation One
- เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย
- สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจนวัตกรรม ผ่านการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพ
- เกิดการพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดในภาคเอกชน
- บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น ผ่านการยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรม